แนวคิดประชาสังคมกับรัฐธรรมนูญ ตอนที่ 5

แนวคิดประชาสังคมกับรัฐธรรมนูญ  ตอนที่ 5

 

              4. มองเตสกิเออร์ (Montesquieu) ผู้เขียนวรรณกรรมเรื่อง เจตนารมณ์แห่งกฎหมาย” (Esprit des lois) ได้อธิบายถึงเจตนารมณ์แห่งกฎหมาย กฎหมายทั้งหลายนั้นย่อมเกี่ยวพันกับองค์ประกอบของความจริงทางวัตถุ ศีลธรรมหรือสังคม กฎหมายเป็นระบบความสัมพันธ์อย่างหนึ่งกับรัฐธรรมนูญของแต่ละการปกครอง ความสัมพันธ์กับขนบธรรมเนียมประเพณี ภูมิอากาศ ศาสนา การค้า เป็นความสัมพันธ์ซึ่งมาจากธรรมชาติรูปแบบต่างๆที่จำเป็น  กฎหมายจึงเป็นภาพลักษณ์ของเหตุผล แต่กฎหมายก็จัดทำโดยผู้มีอำนาจ  นิติบัญญัติ

            ทฤษฏีว่าด้วยรัฐบาลหรือการปกครอง ได้จำแนกรัฐบาลหรือการปกครองออกเป็นสามรูปแบบ คือ สาธารณรัฐ ระบบกษัตริย์ และระบบทรราช แต่ละรัฐบาลหรือการปกครองดังกล่าวนี้ต่างมีธรรมชาติและหลักการของมัน ธรรมชาติคือสิ่งที่ทำให้รัฐบาลหรือการปกครองเป็นไปเช่นนั้น ส่วนหลักการของรัฐบาลหรือการปกครองก็คือสิ่งที่ทำให้รัฐบาลหรือการปกครองดำเนินไปได้ หมายถึงสิ่งที่เป็นพลังขับเคลื่อนให้รัฐบาลเคลื่อนไหวและดำเนินการ พลังขับดับที่ว่าคือสภาพจิตสำนึกและแรงปรารถนา (les passions) ของมนุษย์นั้นเอง

            4.1 สาธารณรัฐ  แบ่งออกเป็นสองรูปแบบ

            4.1.2 สาธารณรัฐประชาธิปไตย ธรรมชาติหรือโครงสร้างของการปกครองระบอบนี้ คือ อำนาจอธิปไตยอยู่ที่องค์คณะประชาชน ผู้ซึ่งในบางแง่ก็เป็นองค์อธิปัตย์ในอีกบางแง่ก็เป็นผู้อยู่ใต้ปกครอง องค์คณะประชาชนเป็นองค์อธิปัตย์ เมื่อเขาลงคะแนนเสียงซึ่งเป็นเจตจำนงของเขาเอง เจตจำนงอธิปัตย์ก็คือองค์อธิปัตย์นั้นเอง  ประชาชนเป็นผู้อยู่ใต้ปกครองเมื่อเขาต้องเคารพเชื่อฟังซึ่งเขาเองเป็นผู้แต่งตั้ง

            ดังนั้น กฎหมายที่จัดตั้งสิทธิออกเสียงจึงเป็นกฎหมายมูลฐานในการปกครองระบอบนี้ ในฐานะองค์อธิปัตย์ประชาชนจะต้องทำด้วยตนเองสิ่งที่เขาสามารถทำได้ดี และสิ่งที่เขาไม่สามารถทำได้ดี เขาสต้องให้รัฐมนตรีหรือเจ้าหน้าที่ที่เขาเลือก เป็นผู้กระทำการแทน ทั้งนี้เพราะว่าการเลือกผู้กระทำการแทนนี้ ประชาชนมีความสามารถในการเลือกผู้ที่เขามอบหมายอำนาจบางส่วนของเขาให้และเขาก็จะทำได้เป็นอย่างดี เขาเพียงตัดสินใจตามสิ่งที่เขาได้รู้เห็นตามข้อเท็จจริงที่ประจักษ์

            หลักการของประชาธิปไตยหรืออีกนัยหนึ่งสิ่งที่เป็นพลังขับดันให้การปกครองระบบนี้ดำเนินไปได้ก็คือคุณธรรม (la Vertu) หมายถึงการมีคุณธรรมทางการเมืองซึ่งต้องกาให้มีการเสียสละเพื่อรัฐและเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมอยู่เสมอ ไม่ว่าการเสียสละตัวเราหรือการตัดออกไปแล้วซึ่งความเกลียดชังที่เรามีต่อผู้อื่น โดยธรรมชาติแล้วประชาธิปไตยเป็นการปกครองโดยคนจำนวนมาก ถ้าการปกครองไม่ดำเนินการไปด้วยดี ถ้ากฎหมายไม่ไดัรับการปฏิบัติตามต้นเหตุก็มาจากความเสื่อมของจิตใจของคนจำนวนมากนี้นั้นเอง นับเป็นความเลวร้ายที่ไม่อาจจะแก้ไขได้ รัฐสูญสลายไปแล้ว

            4.1.2 สาธารณรัฐอภิชนาธิปไตย ธรรมชาติหรือโครงสร้างอภิชนาธิปไตยคือ อำนาจสูงสุดในการปกครองจะอยู่ที่คนกลุ่มหนึ่ง ไม่ได้อยู่ที่องค์คณะประชาชนยิ่งคนกลุ่มนี้มีจำนวนมากขึ้นเท่าใด สถาบันก็ยิ่งใกล้เคียงกับประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น อภิชนาธิปไตยที่ดีที่สุดคืออภิชนาธิปไตยที่ประชาชนไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในอำนาจมีอยู่เป็นจำนวนน้อยนิด และก็ยากจนมากเสียจนผู้มีอำนาจไม่มีผลประโยชน์อันใดที่ไปกดขี่คนเหล่านั้น ปัจจุบันการปกครองรูปแบบนี้กลายเป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ไปแล้ว

            4.2 ระบอบกษัตริย์  ธรรมชาติหรือโครงสร้างของการปกครองระบอบนี้คือ คนเดียวปกครองและเป็นที่มาพลังอำนาจทั้งหลาย แต่คนๆเดียวนี้ปกครองด้วยกฎหมายที่แน่นอนและได้จัดตั้งขึ้นมา รากฐานราชอาณาจักรก็คือกฎหมายมูลฐานต่างๆ ความแน่นอนของกฎหมายมูลฐานต่างๆ เหล่านี้จะเป็นอุปสรรคขัดขวาง เจตจำนงชั่วแล่นและที่แปรเปลี่ยน ของกษัตริย์ แต่นั้นก็คือยังหมายถึงอีกว่าในระบอบกษัตริย์ยังจะต้องมีกลุ่มอำนาจอื่นอีกที่มาคอยถ่วงดุลอำนาจ กษัตริย์กลุ่มอำนาจที่ว่าก็คือกลุ่มอำนาจกลาง (pouvirs  intermediaries)

            กฎหมายมูลฐานต่างๆ ที่แน่นอนและได้จัดตั้งขึ้นมาแห่งระบอบกษัตริย์นี้ จะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของคณะบุคคลคณะหนึ่งซึ่งได้รับการเลือกเฟ้นมาเป็นอย่างดี องค์คณะบุคคลนี้ก็เป็นอำนาจกลางอีกกลุ่มหนึ่ง เป็นคลองอีกคลองหนึ่งที่กระแสพลังอำนาจของกษัตริย์จะต้องไหลผ่านอย่างมีระเบียบและที่พลังจู่โจมแห่งอำนาจนี้จะถูกตัด องค์คณะบุคคลนี้จะประกาศให้ทราบทั่วกันถึงกฎหมายต่างๆ ที่มีอยู่ คอยเตือนให้ระลึกถึงและดูแลไม่ให้ฝุ่นละอองจับจนกลายเป็นกฎหมายที่ตายไปแล้ว

            ปัญหาก็คือ องค์คณะบุคคลต่าง หรือกลุ่มอำนาจกลางต่างๆ ดังกล่าวมานี้จะไม่ขัดแย้งกันเองหรือ หรือไม่ก็ขัดแย้งกับกษัตริย์ขัดแย้งกับประชาชน หรือไม่อีกทีประชาชนนั่นเองจะเป็นฝ่ายขัดแย้งกับกลุ่มอำนาจกลางนี้ ความเร้นลับของระบอบกษัตริย์ คือการมีกลไกแห่งการขัดแย้งกัน การต้านกัน การดุลและถ่วงดุลกัน กลไกการดุลพลังกันและกันนี้เองที่ทำให้ระบอบกษัตริย์ธำรงอยู่ได้

            ในระบอบประชาธิปไตยซึ่งเป็นการปกครองโดยคนจำนวนมาก พลังขับดันที่ว่านี้อยู่ที่จิตสำนึกทางการเมืองของคนส่วนใหญ่ นั่นก็คือความรักบ้านเกิดเมืองนอนซึ่งนำไปสู่การเสียสละตัวเองหรืออีกนัยหนึ่งคุณธรรม (ทางการเมือง) แต่ระบอบกษัตริย์ป็นระบอบที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความอยู่เหนือทางชนชั้นได้แก่พวกขุนนางสืบตระกูลพร้อมด้วยอภิสิทธิ์นานัปการ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือเป็นระบอบที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความแตกต่างอันเด่นชัดและถาวรระหว่างบุคคลและสถานภาพทางสังคมซึ่งสร้างความไม่เสมอภาคให้เกิดขึ้นมา ดังนี้ การปกครองระบอบนี้จึงไม่อาจอาศัยคุณธรรมเป็นพลังขับดัน จริงอยู่คุณธรรมไม่ได้ถูกขจัดออกไปจากระบอบกษัตริย์แต่ก็ไม่ใช่พลังขับดัน ระบอบกษัตริย์ก็มีพลังขับดันของตนเองแต่โดยเฉพาะซึ่งสามารถดลใจให้มีปฏิบัติการต่างๆ ที่ดีเลิศและเมื่อได้พลังของกฎหมายเข้ามาช่วยด้วยก็จะสามารถนำไปสู่จุดหมายของรัฐได้เช่นเดียวกับคุณธรรม พลังขับดันที่ว่าก็คือ เกียรติยศ (I’honneur) อีกนัยหนึ่ง ก็คือเป็นเรื่องของความทะเยอทะยานซึ่งเป็นอันตรายในสาธารณรัฐ แต่เป็นจักรที่มีคุณค่ายิ่งในระบอบกษัตริย์ แน่นอนไม่มีใครรักรัฐเพราะว่าเป็นรัฐ ดังนี้ แต่ละคนก็เท่ากับรับใช้รัฐกษัตริย์ไปในตัวซึ่งรัฐกษัตริย์นี้ต้องการบุคคลและกลุ่มอภิชนพร้อมด้วยการปฏิบัติการต่างๆ ที่ยิ่งใหญ่และที่ยากยิ่ง ดังนี้การปกครองก็สามารถบรรลุเป้าหมายได้โดย ลงทุน" น้อยที่สุด

……ติดตามอ่านตอนต่อไปได้ในวันพรุ่งนี้………

เกี่ยวกับ teerayaut

จงทำความดี เพื่อวันข้างหน้า..
ข้อความนี้ถูกเขียนใน ความรู้ทั่วไป คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

ใส่ความเห็น